วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551

พระอุโบสถหลังใหม่



วัดตาลกง เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาช้านาน มีเจ้าอาวาสปกครองดูแลกันมาหลายรูป เท่าที่ผู้เฒ่า ผู้แก่เล่าให้ฟังมีถึง 6 รูป มีพระสงฆ์ - สามเณรอยู่จำพรรษามากบ้าง น้อยบ้างตามสมควรมีสิ่งปลูกสร้างเสนาสนะ กุฏิ ศาลาพักร้อน และอุโบสถที่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามสภาพ ได้รับการซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งจากอดีตเจ้าอาวาส

เมื่ออาตมาภาพรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสก็ได้วางผังทำแผนพัฒนาวัดตาลกงร่วมกับญาติโยมสาธุชนให้เป็นวัดที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งในด้านการปฏิบัติิและการจัดการสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นต่างๆ ส่วนของเก่า ของเดิม ที่ดีอยู่ก็ได้ซ่อมแซมและดูแลรักษาให้คงสภาพถาวรสืบไป
ส่วนอุโบสถของเดิมนั้นสภาพทรุดโทรมมาก ยากต่อการซ่อมแซม ถ้าจะซ่อมแซมดูแลรักษาไว้ให้คงสภาพเดิม ก็คงจะต้องสิ้นเปลืองทุนทรัยพ์มากอีกประการหนึ่ง วัสดุอุปกรณ์ที่สร้างไว้เดิมก็ผุพังหมดอายุการใช้งาน เมื่อได้ปรึกษาหารือกันกับทุกๆ ฝ่าย เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรสร้างใหม่

การก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ก็ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เป็นลำดับมา จนกระทั่งถึงบัดนี้ เรียบร้อยแล้วสมควรจัดการผูกพัทธสีมาให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ร่วมกุศลปิดทองลูกนิมิตดังนั้น ทางคณะสงฆ์ คณะกรรมการ ตลอดทั้งชาวบ้านตาลกง และชาวบ้านใกล้เคียงเห็นสมควรจัดงานปิดทองฯ อุโบสถหลังใหม่ในปี พ.ศ.2545อาตมาภาพจึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการวัด ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ นำความเรื่องนี้กราบเรียน พระเทพสุวรรณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีเพื่อกำหนดวันจัดงานปิดทอง

ท่านเจ้าคณะจังหวัดจึงได้กำหนดงาน ระหว่างวันที่ 11-19 กุมภาพันธ์ 2545 รวม 9 วัน 9 คืน งานปิดทองลูกนิมิต ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่อีกประเภทหนึ่งของวัด ซึ่งต้องอาศัยทุนทรัพย์จำนวนมาก ต้องอาศัยคนเป็นจำนวนมากให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิดความสามัคคีรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันงานใหญ่อย่างนี้จึงจะสำเร็จลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี

อาตมาภาพขอขอบใจ และอนุโมทนาแด่ท่านสาธุชนและญาติโยมที่ได้รับหน้าที่เป็นกรรมการจัดงานแผนกต่างๆตลอดถึงท่านที่ได้อุปการะ ช่วยเหลือบริจาคทรัพย์และสิ่งของต่างๆ ร่วมงานปิดทองลูกนิมิตผูกพัทธสีมาของวัดตาลกง ในครั้งนี้จงเจริญด้วยจตุรพิธพรตลอดไป เทอญ

ขออำนวยพร

( ลงชื่อ ) พระครูวินัยวัชรกิจ ( เจ้าอาวาสวัดตาลกง )

จากหนังสือ “ สูจิบัตร งานปิดทองลุกนิมิตผูกพัทธสีมา วัดตาลกง ตำบล มาบปลาเค้าอำเภอ ท่ายาง จังหวัด เพชรบุรี ๑๑ - ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ”


วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551

ประวัติ วัด ตาลกง



ประวัติ วัด ตาลกง โดยสังเขป
วัดตาลกง เป็นวันราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๕๓ ม.๕ ณ บ้านตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
สังกัด มหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๓ ไร่เศษ อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ ๑๗๘ ระยะทางจากถนนเพชรเกษม แยกทางทิศตะวันออกตามถนนต้นคลองสายหาดปึกเตียน
ชลประทานสาย ๓ และห่างจากตัวอำภอท่ายาง ๖ กิโลเมตร
ห่างจากศาลากลางจังหวัด อำเภอเมืองเพชรบุรี ๒๒ กิโลเมตร
ไปทางทิศใต้ถนนเพชรเกษม

อาณาเขต
ทิศเหนือ จดที่นาของวัดตาลกง สนามฟุตบอลโรงเรียนวัดตาลกง

ทิศตะวันออก จดคลองแยกชลประทานสายไปหาดเจ้าสำราญ


ทิศใต้ จดที่สวนพืช ผลไม้ สวนกล้วย มะนาว

ทิศตะวันตก จดที่นาข้าว ของชาวบ้าน

ชื่อบ้านนามวัด
ตามประวัติความเป็นมา ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาพอประมวลโดยย่อได้ว่า
ณ บริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ เริ่มแรกเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ สำนักสงฆ์ตาลโก่ง ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๐ มีตาลอยู่ต้นหนึ่งมียอดพิเศษแปลกกว่าต้นอื่นๆ คือ
มียอดอยู่ ๗ ยอด ลักษณะลำต้นโก่ง (คงหนักยอด )
ชาวบ้านจึงขนานนามตาลพิเศษต้นนี้ว่า “ ตาลโก่ง ”
ต่อมาเมื่อมีวัดเกิดขึ้น ค่อยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นขึ้นตามลำดับ
มีภิกษุ - สามเณรจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่หลายรูป
เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของญาติโยมทั่วกัน
มีการพัฒนาและปรับปรุงเสนาสนะ กุฏิไว้เป็นที่พักสำหรับพระสงฆ์ – สามเณร เพื่อที่จะยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่สมบูรณ์
ผู้ที่ขออนุญาตตั้งวัดเดิม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๓
ผู้ขออนุญาตตั้งวัดคนเก่า ชื่อ นายโทร คำแพง , นาย ดี ทองมี , นาย เอ กันทบุตร
และ นายเขียว มีคง เมื่อกาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป
จากชื่อเดิม คือ ตาลโก่ง ก็เรียกเสียงแปร่ง เสียงเหน่อ
เพี้ยนไปกลายมาเป็น “ ตาลกง ”
ตามเสียงเรียกของชาวบ้านจึงเป็นชื่อของ วัดตาลกง มาจนทุกวันนี้
ี้ และเรียกชื่อตาม ชื่อหมู่บ้านตาลกงอีกส่วนหนึ่งด้วย
จึงกลายมาเป็น ชื่อบ้าน / นามวัด ดังกล่าว

วัดตาลกง มีเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบเนื่องกันมาถึง รูป คือ

๑.หลวงพ่อแหยม
๒.หลวงพ่อมิตร
๓หลวงพ่อตุ้ม
๔.หลวงพ่อพุด
๕.หลวงพ่อแช่ม

๖.หลวงพ่อผิว ธมมสิริ
๗.พระครูวินัยวัชรกิจ ( หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม )

นับแต่ ท่านพระครูวินัยวัชรกิจ หรือหลวงพ่ออุ้น ( สุขกาโม ) เป็นเจ้าอาวาส
ดูแลวัดสืบต่อจากหลวงพ่อผิว ธมมสิริ
ตามประวัติเก่าเขียนไว้ว่า ของเก่า กุฎิเก่า เมื่อครั้งหลวงพ่อผิว ธมมสิริ ผุพังชำรุดหมดไป เหลือต้องซื้อซ่อมใหม่
หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เปลี่ยนแปลงสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดทุกๆหลัง
ที่มีอยู่ปัจจุบัน ตลอดถึงฌาปนสถาน โรงเผาศพ รวมแล้วท่านพระครูวินัยวัชรกิจ ได้สร้างเสนาสนะใหม่หมดเพื่อใช้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์
และเป็นที่บำเพ็ญบุญกุศลศรัทธาของสาธุชน ในยามเทศกาลต่างๆ การมาร่วมบำเพ็ญบุญทุกชนิดในวันสำคัญๆ ในทางศาสนา เป็นต้นมา
ต่อมาท่านได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๔ ไร่เศษ รวมกับของเดิม ๑๓ ไร่เศษ เป็น ๑๗ ไร่ ๒ งาน เพื่อขยายสร้างอาคารเรียนชั้นมัธยม และเป็นสนามโรงเรียนวัดตาลกง



อาคารที่เรียนของโรงเรียน ท่านอนุญาตให้สร้างในเขตวัดทุกๆหลัง
ในการสร้างอาคารเรียนชั้นประถม และมัธยม
ท่านให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้วยดีมาตลอด
จึงนับได้ว่าท่านพระครุวินัยวัชรกิจ ได้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อวัด
พระศาสนา โรงเรียน เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและสังคมอย่างแท้จริง

หมายเหตุ : อ้างอิงจากหนังสือ “ สูจิบัตร งานปิดทองลุกนิมิต
ผูกพัทธสีมา วัดตาลกง ตำบล มาบปลาเค้า
อำเภอ ท่ายาง จังหวัด เพชรบุรี ๑๑ – ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ”





วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

ชีวประวัติ ( หลวงพ่ออุ้น ) สุขกาโม


นามเดิม : อุ้น อินพรหม

สมณศักดิ์ : พระครูวินัย วัชรกิจ เจ้าอาวาสวัดตาลกง
อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ชาติภูมิ : กำเนิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459
( แรม 2 ค่ำ เดือน 4 ปี มะโรง ) เป็นบุตรคนโต
ในจำนวนพี่น้อง 8 คน คือ 1.ลพ.อุ้น 2.นายอิ่น
3.นายเอื่อน 4.นายพวง 5. นายแดง
6.นางพุด 7.นางเพี้ยน 8.นางพ้วน
ของโยมบิดา บุญ อินพรหม
โยมมารดา เล็ก อินพรหม ณ บ้านหนองหินถ่วง
ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

เริ่มการศึกษาเบื้องต้น หนังสือไทย ขอม ที่วัดไสค้าน
จนกระทั่งจบการศึกษาภาคบังคับ แล้วมาช่วยเหลือ
บิดามารดาประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรม

อุปสมบท : เมื่ออายุ 20 ปี วันที่ 21 ก.ค.2479
ณ พัมธสีมา วัดตาลกง โดยมีพระอธิการชัน
วัดมาบปลาเค้า เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการผิว
วัดตาลกง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขาว
วัด อินจำปา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับสมณฉายา
ว่า " สุขกาโม "

การศึกษาพุทธาคม : ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ อยู่รับใช้
ลพ.ผิว วัดตาลกง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญไสยศาสตร์
เวทย์มนต์คาถาอาคม รุ่นราวคราวเดียว ( สหธรรมิก )
กับ ลพ.เพลิน วัดหนองไม้เหลือง ทั้งยังเก่งด้านวิปัสนา
กรรมฐาน เมตตา อยู่ยงคงกระพัน ซึ่งใกล้ชิดกับ
ลป.นาค วัดหัวหิน ทั้งเคยเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้
จาก ลป.นาค อยู่เป็นประจำ

หลวงพ่อผิว ธมสิริ เป็นพระเกจิทรงคุณวิเศษ
ของเมืองเพชรบุรีในยุคนั้น แต่อุปนิสัยของท่านชอบ
อยุ่สันโดษ เก็บตัวเงียบ ไม่ยอมเปิดเผยว่ามีดีนานๆ
จะลง นะ ที่กระหม่อมให้ผู้ไปหาท่านสักครั้ง
ชาวบ้านวัยชราอายุ 80 กว่า เล่าให้ฟังว่า
ลพ.ผิวลง นะ ที่หัวให้ตัวเดียว มีคุณสารพัด
อยู่ยงคงกระพันจนวันตาย คนเก่าๆแถวท่ายาง
ต่างประจักษ์ในความคงกระพันชาตรีมาแล้วหลายราย
ก่อนนี้มีไอ้หนุ่มวัยรุ่นมาติดพันสาวมาบปลาเค้า
เข้าไปกราบนมัสการ ลพ.ผิว ขอให้ท่านลงนะที่
กระหม่อมให้ ครั้นต่อมาไม่นานเขากลับมามาบปลาเค้า
อีกครั้ง ถูกนักเลงเจ้าถิ่นแทงด้วยมีด ตีหัวด้วยท่อนไม้
ไม่ยักเป็นไร เลยฮึดสู้หนึ่งต่อสาม เล่นเอานักเลง
เจ้าถิ่นต้องเปิดหนีกันจ้าละหวั่นไปเลย
หลวงพ่ออุ้น เป็นที่โปรดปรานของ ลพ.ผิวมากๆ
ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาให้จนหมดสิ้น
ในพรรษาต่อมา ลพ.อุ้่นเดินทางไปกราบนมัสการ
ลพ.ทองศุข วัดโตนดหลวง ถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อ
เล่าเรียนฝึกปฏิบัติสมธกรรมฐาน วิปัสนากรรมฐาน
พุทธาคม โดยเรียนฝึกวิชากสิณจนชำนาญในกสิน 10
รวมทั้งตำรับตำราการทำผงเมตตาชั้นสูงด้วย

หลวงพ่อทองศุข เห็นความมานะพยายามของ ลพ.อุ้น
ประจวบกับ ลพ.ผิว ก็มีความคุ้นเคยกับ ลพ.ทองศุข
มาก่อนแล้ว ท่านจึงรับไว้เป็นศิษย์ถ่ายทอดสรรถวิชา
ให้อย่างเต็มกำลัง
อันที่จริงศิษย์ของ ลพ.ทองศุขมีหลายรูป
ล้วนแต่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น เช่น ลป.คำ วัดหนองแก
ลพ.ยิด วัดหนองจอก ลป.นิ่ม วัดเขาน้อย
ลพ.พิมพ์มาลัย วัด หุบมะกล่ำ ลพ.อบ วัดถ้ำแก้ว
ลพ.แผ่ว วัดโตนดหลวง ลพ.แล วัดพระทรง เป็นต้น
ก่อนที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชา ลพ.ทองศุขได้ดู
ฤกษ์ยามก่อน แล้วนัดกำหนดวันให้ ลพ.อุ้น
เดินทางไปทำพิธีขึ้นครู หรือการยกครูมีขันธ์ 5
ดอกไม้ ธูปเทียน บายศรี ทำพิธีขึ้นครู กล่าวได้ว่า
ลพ.อุ้น เป็นศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมจาก ลพ.ทองศุข
โดยตรงอีกรูปหนึ่งอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างครูบาอาจารย์อย่างเลื่อนลอย
การเรียนวิชาอาคม ของ ลพ.อุ้น ต้องเดินทาง
จากวัดตาลกงไปเรียนที่วัดโตนดหลวง ครั้งหนึ่ง
พักอยู่ 15 วัน ไปกลับอย่างนี้เป็นประจำ ทั้งยังออก
ปริวาสกรรมร่วมกับหลวงพ่อทองศุข ขึ้นเขา
ไปบำเพ็ญเพียรในป่าช้าก็บ่อยครั้ง มีอยู่ครั้้งหนึ่ง
ได้พบกับ หลวงพ่อจัน วัดมฤคทายวัน
ซึ่งเป็นญาติกับ ลพ.ทองศุข
ลพ.จัน เก่งวิชาสะกดชาตรี คือวิชาสะกดสัตว์ร้าย
อยู่กับที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวไ้ด้ เรียนมาจาก
พระภิกษุธุดงค์ชาวเขมร
หลวงพ่อจัน
ได้ถ่ายทอดวิชาสะกดชาตรีให้กับ
ลพ.อุ้นเช่นกัน สำหรับวิชาที่โดดเด่นมากของ
ลพ.ทองศุข ยากที่ศิษย์ผู้ใดจะได้รับการถ่ายทอด
คือ " วิชาการทำผงพระจันทร์ครึ่งซีก "
วิชา การทำผงพระจันทร์ครึ่งซีกเป็นอย่างไร ?
ผงพระจันทร์ครึ่งซีก
เป็นผงเมตตามหานิยม
มีพุทธคุณอมตะล้ำลึกแต่ท่านยังไม่เคยนำเอาวิชา
มาทำผงเลย เพราะสัจจะกฎสำคัญมากนอกจากนั้น
ยังได้รับการถ่ายทอดการทำผงอิทธิเจ ผงปถมัง
ผงมหาราช และผงหน้าพระภักษ์ อันเป็นตำรับ
สุดยอดของ พระผงวัดนก จังหวัดอ่างทอง
สำหรับตำราผงหน้าพระภักษ์ รู้ว่าปัจจุบัน
ได้สูญหายไปจากวงการไสยศาสตร์นานแล้ว
หากมีอยู่หรือเป็นมรดกแก่ผู้ใดบ้างก็คงมีน้อย
เต็มที ที่จะรู้ได้
อีกวิชาหนึ่ง ที่ได้รับการถ่ายทอด
จากหลวงพ่อทองศุข คือ การสักยันต์คงกระพัน
ชาตรี หลวงพ่ออุ้นเคยสักยันต์ใ้ห้ลูกศิษย์ไปหลายคน
ล้วนแล้วแต่อยู่ยงคงกระพันชาตรี ภายหลังลูกศิษย์
ของท่าน ( บางคน ) มีนิสัยเกเร
สร้างความเดือดร้อนใจให้ผู้อื่น ท่านมาพิจารณาดูแล้ว
เห็นเป็นการส่งเสริมให้คนประกอบมิจฉาชีพผิดคดีโลก
คดีธรรม ตั้งแต่นั้นท่านเลิกสักยันต์โดยเด็ดขาด
ส่วนใครที่อยากได้รับประสิทธิ์ประสาทอักขระเลขยันต์
จากท่าน ก็เมตตาทำให้เพียงเป่ากระหม่อม หรือเจิม
หน้าผากด้วยผงพุทธคุณเพื่อความเป็นศิริมงคล
สำหรับ วิชา นะปัดตลอด นั้น ลพ.อุ้น
ได้รับการถ่ายทอดเช่นเดียวกัน วิชานี้จะสังเกตุ
ได้ถึงวัตถุมงคลสำนักวัดโตนดหลวง
มียันต์นะปัดตลอด และ นะ ปถมังปรากฎ
อย่างชัดเจน รวมทั้งวัตถุมงคลศิษย์สาย
หลวงพ่อทองศุขทุกรูป
หลังจากนั้น ลพ.อุ้นได้ไปกราบนมัสการ
พระอธิการชัน วัดมาบปลาเค้า เพื่อขอศึกษา
วิชาไสยศาสตร์ ด้านอยู่ยงคงกระพัน เสกลิงลม
ขับคุณไสย วิชาทำตะกรุด ครูบาอาจารย์ของท่าน
มิใช่จะมีแต่บรรพชิตเท่านั้น แม้คฤหัสถ์ผู้ิเชี่ยวชาญ
อาคม ท่านก็ยังขอเล่าเรียนเช่นกัน อย่างเช่น
อาจารย์โม หมอสักชาวเพชรบุรีมีชื่อเสียงโด่งดัง
ทีสุดในยุคนั้น
หลวงพ่ออุ้น ได้ไปขอเรียนวิชาจากอาจารย์โม
แม้ ลพ.ไสว วัดปรีดาราม ( มรณภาพไปแล้ว )

ก็เคยไปเรียนวิชาการสักยันต์มาเหมือนกัน
จากนั้น ลพ.อุ้นไปเรียนวิชาทำสีผึ้งเมตตามหานิยม
วิชาลงเลขยันต์ ลงสมุนไพร ตำราสมุนไพรจากหมอฉ่ำ
หมอไสยศาสตร์ ชาวท่ายาง
อันที่จริงโยมพ่อบุญ อินพรหม บิดาของ ลพ.อุ้น
ก็เชี่ยวชาญเป็นหมอไสยศาสตร์ มีความรู้เรื่องยาโบราณ
ทั้งตำรายาโบราณที่ตกทอดมาแต่ยุคก่อนจำนวนมาก
โดยเฉพาะตำราทำผงยาเพชรบุรี ซึ่ง ลพ.อุ้น
ได้รับสืบทอดมาด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่า ผงยาเพชรมณีหรือเพชรจินดา
เป็นตำรายาหัวใจ ยาลม ยาอายุวัฒนะที่ดีมาก
มีคุณสมบัติพิเศษไม่แตกต่างกับผงยาจินดามณี
ของหลวงปู่บุญมากนักหรืออาจเป็นตำราสูตรเดียวกัน
มาแต่โบราณก็เป็นได้

ปฏิปทาศีลวัตร
หลวงพ่ออุ้น
เป็นพระที่มีอัธยาศัยไมตรีเปี่ยมด้วยเมตตา
ถือสัจบารมีเป็นที่ตั้ง ปฏิปทาศีลวัตรงดงามบริสุทธิ์
เสมือนทองทั้งแท่ง ท่านใฝ่ใจในเรื่องที่เป็นวัฏสงสาร
การเกิดแก่เจ็บตาย บุญกรรมสิ่งลี้ลับ ธรรมชาติ
โดยเฉพาะเรื่องเวทมนต์ถาถาอาคมอักขระเลขยันต์
เป็นพิเศษ ซึ่งมีอุปนิสัยใจคอมาตั้งแต่วัยเด็ก
จึงเป็นแรงจูงใจให้ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนรู้แล้วปฏิบัติ
ให้เข้าถึงรู้แจ้งเห็นจริง ผู้ใกล้ชิดหลวงพ่ออุ้น
ต่างรุ้กันดีว่าท่านไม่ใช่พระธรรมดาหรือเป็นพระธรรมดา
ที่ยิ่งกว่าธรรมดา มีญาณสมาบัติสูง มีสมาธิจิตแก่กล้า
หยั่งรู้อนาคต แม้กรวดหินแร่ธาตุต่างๆท่านหยิบผ่านมือ
แล้วมอบใ้ห้แก่ใครก็มีอานุภาพพุทธคุณอย่างน่าอัศจรรย์

พระันักพัฒนา
เมื่อพูดถึงงานด้านการพัฒนา หลวงพ่ออุ้น
ได้อยู่ช่วยเหลือ หลวงพ่อผิว ( ผู้เป็นหลวงลุง )
สร้างวัดตาลกงมาตั้งแต่แรกๆ จนสำเร็จลุล่วง
ไปด้วยดี
ก่อนนี้ท่านได้เดินทางไปป่าละอูไปช่วย ลพ.ผิว
ตัดไม้ ไปกลางเืดือนอ้ายกลับถึงวัดกลางเดือนห้า
ใช้เวลาไปกลับครั้งละ 4 เดือน เป็นอย่างนี้ประจำ
ถึง 5 ปี ไปกับหมู่สงฆ์ไปปลูกโรงอาศัยในป่าไม้ที่ตัด
ใช้เกวียนลากมาแสนจะลำบาก
หลวงพ่ออุ้น ออกธุดงควัตรไปทั่วทุกภาคที่ๆอยู่
ในความทรงจำของท่านมากที่สุดก็คือ ป่าตะนาวศรี
ป่าละอู และป่าปราณบุรี เดินธุดงค์จนไปพบกับ
ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ถวายที่ดินให้ท่านสร้างวัด
และโรงเรียนจำนวนเนื้อที่ถึง 10,000 กว่าไร่
ลพ.ถามโยมผู้ถวายที่ดินว่าเมื่อโยมถวายที่ให้อาตมา
แล้วจะให้มีอะไรบนที่ดินผืนนี้บ้าง โยมผู้ันั้นบอกว่า
ต้องการมีวัด โรงเรียนและสถานีอนามัย เมื่อรับปาก
ว่าจะดำเนินการจัดสร้างสำนักสงฆ์ท่าไม้ลายขึ้น
ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.เขาเจ้า อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยจัดส่ง พระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร ซึ่งเป็นศิษย์
ของ ลพ.อุ้นไปควบคุมดูแลปฏิสังขรณ์สำนักสงฆ์
ได้รับผ้าป่ากฐินพอเลี้ยงตัวเองได้ ต่อมาได้สร้าง
โรงเรียนขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จนบัดนี้ก็มีเด็กนักเรียน
ประมาณ 200 คน พร้อมกับสถานีอนามัยอยู่บนพื้น
ที่แห่งนี้สมเจตนารมย์ของผู้ถวายทุกประการแล้ว
หลวงพ่ออุ้นนอกจากจะเป็นพระนักปฏิบัติแล้ว
ก็เป็นพระนักพัฒนาผู้นำความเจริญก้าวหน้า
มาสู่สำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย จากที่ว่างเปล่าให้กลาย
เป็นที่เจริญรุ่งเรืงด้วยการพัฒนาสถานที่พัฒนาบุคคล
ไปพร้อมๆกัน

กิตติคุณบารมีธรมและผลงาน
หลวพ่ออุ้น สุขกาโม เป็นพระเกจิอาจารย์อาวุโสรูปหนึ่งของเมืองไทย
แม้จะเพิ่งเปิดเผยชีวประวัติเพียงไม่กี่ปีก็ตาม สำหรับสาธุชนในท้องถิ่น
ต่างรู้จักกิตติคุณของท่านมานานนับกว่า 30 ปีแล้ว
หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เป็นแบบอย่างของพระภิกษุสงฆ์
ที่เคร่งครัดธรรมวินัย มีศีลบริสุทธิ์ ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทาง
ในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นพระที่ไม่สะสม ไม่ปรุงแต่ง
ไม่เคยยึดติดลุ่มหลงในยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่ยึดติดในลาภสักการะ
ท่านมีแต่สงเคราะห์ช่วยเหลือแผ่เมตตาบารมี
ผลงานการสร้างเสนาสนะสงฆ์ตลอดทั้งถาวรวัตถุต่างๆ
ปรากฎเป็นรูปธรรมมากมาย เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ
กุฎิสงฆ์ ฌาปนสถาน สำนักสงฆ์ โรงเรียน
ถนนหนทาง กำแพงวัด ฯลฯ
ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ของหลวงพ่ออุ้นทั้งสิ้น
เคยมีพระเถระผู้ใหญ่มาขอร้องให้ท่านรับตำแหน่งอุปัชฌาย์
ตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ท่านปฏิเสธทั้งหมด เท่าที่ทราบพอลำดับ

ประวัติตำแหน่งหน้าที่และสมศักดิ์ได้ดังนี้
พ.ศ.2500 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์
พ.ศ.2504 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการ อุ้น สุขกาโม
เจ้าอาวาสวัดตาลกง
พ.ศ.2508 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม
ที่พระครูสังฆรักษ์อุ้น สุขกาโม
พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู
สัญญาบัตร ชั้นตรีที่พระครูวินัยวัชรกิจ
พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระครู
สัญญาชั้นตรีที่พระราชทินนามเดิม
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม
คือการพูดตรงไปตรงมา เป็นวาจาเสมือนเนื้อของหัวใจ
คือปากกับใจตรงกัน ไม่ปิดบังอำพราง ใครอยากจะรู้อะไร
ไปถามท่าน ท่านก็ตอบตรงๆ ถ้ารู้ท่านก็จะบอกจะอธิบาย
ถ้าไม่รู้ท่านก็จะบอกว่าไม่รู้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์
ที่ไม่มีความโลภ โกรธ หลง แต่ประการใด
ไม่เคยเห็นหลวงพ่ออุ้น โกรธใคร ดุด่าว่ากล่าว
หรือตำหนิติเตียนผู้ใด ท่านเป็นพระอริยสงฆ์สำรวมในศีลาจารวัตร
และมีเมตตาธรรม สนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน
โดยจัดมอบทุนการศึกษา แก่นักเรียน 9 โรงเรียน
ที่เรียนดีแต่ยากจน เป็นประจำทุกปี



หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เป็นพระสุปฏิปันโน ผู้บริสุทธิ์
ด้วยไตรสิกขา เป็นพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ระดับแนวหน้า
ในยุคปัจจุบันของเมืองไทยแม้จะเพิ่งเปิดตัวไม่กี่ปี เป็นที่รู้ศรัทธา
เลื่อมใสของญาติโยมสาธุชนอย่างกว้างขวาง ใครไปหาท่าน
ท่านเมตตาต่อทุกคน จะกราบไหว้ก็กราบด้วยความสนิทใจ
สมเป็นสมณพุทธบุตรธรรมทายาทอย่างแท้จริง
เกียรติคุณของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เป็นที่ยอมรับ
กันอย่างแท้จริง ดังนั้นท่านได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชน
ในแวดวงพระเครื่องจัดลำดับพระเกจิอาจารย์ยอดนิยมเมืองไทย
ให้เป็นหนึ่งในสิบพระเกจิอาจารย์ในยุคปัจจุบัน

กิตติคุณ :
เป็นพระสุปฏิปันโน ผู้บริสุทธิ์ ด้วยไตรสิกขา
เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม ถือสัจจะเป็นที่ตั้ง
อัธยาศัยไมตรียิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับการปฏิสันถาร
ญาติโยมด้วยความเป็นกันเอง

นับแต่ พระครูวินัยวัชรกิจ ( อุ้น สุขกาโม )
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดตาลกง
ได้ประพฤติปฏิบัติวางตนอยู่ในกรอบของ
พระธรรมวินัยปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม
ระเบียบแบบแผนของทางราชการ

ได้จัดทำผังวางแผนพัฒนาวัดในด้านต่างๆ
ร่วมกับคณะกรรมการวัด ญาติโยมสาธุชน
ทำให้คณะสงฆ์ และญาติโยมผู้อุปการะวัด
มีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรง ร่วมใจ
ให้ความอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ - สามเณร
และช่วยเหลือกิจศาสนามาด้วยดี จึงสามารถพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง

เสนาสนะภายในวัดหลายอย่าง เช่น กุฎิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ
โบสถ์ ศาลา บำเพ็ญกุศล หอระฆัง ซุ้มประตูทางเข้าวัด
และอื่นๆอีกมากมาย จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นอกจากนั้นท่านยังให้การสนับสนุนการศึกษา
ปริยัติธรรมของพระสงฆ์ - สามเณร
และการศึกษาของเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดตาลกงอีกด้วย
ท่านยังเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม เจริญกัมมัฎฐาน
จนเป็นที่รู้จักและยอมรับของสังคมเป็นอย่างดียิ่ง



หมายเหตุ : อ้างอิงจากหนังสือ ชีวประวัติและภาพวัตถุมงคล

หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม ( รวมเล่ม 1- 2 )